ที่มาของโครงการ
ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นปัญหาสังคมที่เริ่มรุนแรง อันเนื่องมาจากภาวะมลพิษเพราะเกิดการบริโภคที่เกินตัว ทำให้มีการผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมาก บางส่วนที่หมดอายุใช้งานถูกกองทิ้งสะสมอยู่ตามชุมชน และกองขยะทั่วไป ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่ามีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รอการกำจัดในประเทศไทยตกค้างอยู่มากกว่าแสนตัน
อนึ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่สามารถจัดการได้ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพราะยังไม่มีกฎหมายมารองรับ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นต้องสร้างโครงการนำร่องเพื่อที่จะนำทางไปสู่การให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป และเพิ่มศักยภาพให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย สามารถกำจัดและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ต่อไปในอนาคต
ดังนั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือของประชาชนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้ริเริ่มโครงการรณรงค์นำร่อง ให้มีการกำจัดและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี เพื่อลดมลพิษ เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการขอรับบริจาคโทรศัพท์มือมือที่เลิกใช้งานจากประชาชนทั่วไป ตามสถิติพบว่ามีตกค้างรวมกว่า 200 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบเห็นทั่วไปตามครัวเรือนและอาคารสำนักงาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายวิชาการ) ได้พัฒนาโครงการใหม่ชื่อ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานร่วมมือกัน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดการจากบริษัท บางกอกรีไซเคิลแอนด์รียูสจำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการจัดการรีไซเคิลชั้นนำของประเทศไทย
|